Search
Close this search box.

หลักสูตร Internship Program

ชื่อหลักสูตร

โครงการฝึกอบรมหลักสูตรเพิ่มพูนทักษะทางคลินิกอย่างเป็นระบบ (internship program)
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ครั้งที่ 3

หลักการและเหตุผล

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นแหล่งผลิตบัณฑิตสัตวแพทย์ที่สำคัญของภาคใต้ ซึ่งแนวทางการผลิตบัณฑิตนั้นเป็นไปตามแนวทางมาตรฐานวิชาชีพของสัตวแพทยสภาและเกณฑ์คุณภาพการศึกษา เพื่อการดำเนินงานที่เป็นเลิศ (EdPEx) นอกจากนี้คณะสัตวแพทยศาสตร์ ยังเป็นแหล่งให้บริการด้านสุขภาพในสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนตามมาตรฐานสถานพยาบาลสัตว์ในประเทศไทย (TAHSA) อย่างไรก็ตามบริบทในปัจจุบัน เจ้าของสัตว์มีความต้องการการได้รับการบริการที่ได้มาตรฐานมากขึ้นและถูกต้องตามหลักวิชาชีพรวมถึงการพัฒนาของระบบการศึกษาต่อเนื่องภายหลัง การจบการศึกษาในหลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิตของสัตวแพทยสภา คณะสัตวแพทยศาสตร์จึงได้ริเริ่มโครงการฝึกอบรม หลักสูตรเพิ่มพูนทักษะทางคลินิกอย่างเป็นระบบ (internship program) สำหรับสัตวแพทย์ที่มีความสนใจด้านเวชศาสตร์สำหรับสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน โดยหลักสูตรการฝึกอบรมในครั้งนี้ได้นำรูปแบบกิจกรรมบางส่วนจากหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-degree) เช่นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถเข้าเสวนาเนื้อหาทางวิชาการร่วมกับนักศึกษาและอาจารย์ การมีระบบอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อส่งเสริมให้ผู้เข้ารับการอบรมสร้างผลงานทางวิชาการในระดับชาติหรือระดับนานาชาติ อันจะส่งผลให้คณะฯ มีแนวทางในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-degree) ในหลักสูตรอื่น ๆ ได้ และเพื่อให้ผู้ผ่านการอบรมเกิดความมั่นใจและมีความเชี่ยวชาญในการประกอบวิชาชีพ ภายใต้การอบรมทั้งภาควิชาการ พัฒนาทักษะผ่านการทำงานร่วมกับคณาจารย์และนายสัตวแพทย์ประจำที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ผ่านการอบรมเป็นผู้มีความสามารถในการให้บริการด้านสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนและปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้รับผิดชอบโครงการ

  1. โครงการร่วมระหว่างฝ่ายการศึกษา ฝ่ายบริการวิชาการ และโรงพยาบาลสัตว์
  2. ผู้ประสานงานหลัก: ผศ.ดร.สพ.ญ.มานิตา วิทยารัตน์

วัตถุประสงค์โครงการ

เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถ

  1.  ประมวลความรู้เพื่อใช้ในการวินิจฉัยและรักษาสัตว์ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2.  วางแผนและดูแลสัตว์ป่วยแบบองค์รวมที่มีคุณภาพ
  3.  ปฏิบัติหัตถการที่จำเป็นได้เป็นอย่างดี
  4.  ให้คำปรึกษาและแนะนำการดูแลสัตว์ป่วยกับเจ้าของสัตว์เลี้ยงและผู้ร่วมงานได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
  5.  เพิ่มพูนความรู้ใหม่และประสบการณ์จากการปฏิบัติได้
  6.  ปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพสัตวแพทย์อย่างเหมาะสม

คุณสมบัติของผู้สมัคร

  1. จบสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต หรือผู้ที่กำลังศึกษาสัตวแพทยศาสตรบัณฑิตในชั้นปีสุดท้ายที่คาดว่าจะสำเร็จการศึกษาก่อนเริ่มโครงการ
    จากสถาบันที่สัตวแพทยสภารับรอง
  2. ได้รับใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ หรือมีเอกสารแสดงว่าผ่านการสอบประเมินความรู้ความสามารถขั้นพื้นฐานของการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ที่จัดขึ้นโดยสัตวแพทยสภา หมวดที่ 2 และ 3
  3. สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี ทั้งกับคณาจารย์ สัตวแพทย์ ผู้เข้าร่วมอบรมด้วยกัน นักศึกษาสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่ทุกระดับ
  4. มีความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ และให้คำแนะนำแก่นักศึกษาสัตวแพทย์ตามโอกาสที่เหมาะสม

วิธีการคัดเลือก

การคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม โดยคณะกรรมการคัดเลือกที่แต่งตั้งโดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

รูปแบบการฝึกปฏิบัติ

  1.  การฝึกปฏิบัติในแผนกต่างๆ รวมทั้งหมด 12 เดือน ดังนี้
    1.  แผนกอายุรกรรม และคลินิกเฉพาะทาง
    2. แผนกศัลยกรรม และวิสัญญี
    3. แผนกฉุกเฉิน สัตว์ป่วยใน และสัตว์ป่วยวิกฤต

  2. การฝึกหัตถการขั้นพื้นฐานตามที่โครงการกำหนดฯ ดังนี้
    1.  แผนกอายุรกรรมและคลินิกเฉพาะทาง
      – Electrocardiography
      – Vaginal cytology interpretation
      – Breeding management
      – Fine needle aspiration/Biopsy
      – Bandage and splint
      – Rehabilitation
      – Ophthalmological examination
    2. แผนกศัลยกรรมและวิสัญญี
      – Castration
      – Ovariohysterectomy
      – Dental scaling and extraction
      – Generalized anesthesia

    3.  แผนกฉุกเฉิน สัตว์ป่วยใน และสัตว์ป่วยวิกฤต

      – Thoracocentesis
      – Abdominocentesis
      – Cystocentesis
      – Urinary catheterization

เข้าฝึกอบรมจะต้องสามารถทำหัตถการข้างต้นทั้งหมดได้อย่างชำนาญ พร้อมทั้งมีการบันทึกลงแฟ้มสะสมการฝึกหัตถการดังกล่าว
พร้อมลายมือชื่อรับรองการฝึกปฏิบัติจาก คณาจารย์หรือสัตวแพทย์ ที่ได้รับการมอบหมาย

3. การเข้าร่วมสัมมนาและการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการในรูปแบบต่างๆ ดังต่อไปนี้

3.1 Journal club/Morbidity-Mortality (MM)
conference ผู้เข้าฝึกอบรมจะต้องเตรียมนำเสนอบทความทางวิชาการจำนวน 4 ครั้ง ตลอดหลักสูตร ในรูปแบบ case presentation แบบ onsite หรือ online ตามตาราง Grand round ภายใต้วิชาคลินิกปฏิบัติสัตว์เล็ก

3.2) ผู้เข้าฝึกอบรมจะต้องจัดทำ case report ตามรูปแบบการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ จำนวน 2 เรื่อง ตลอดหลักสูตร โดยต้องมีอย่างน้อย 1 เรื่อง ที่เข้าร่วมการนำเสนอในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ซึ่งผู้เข้าฝึกอบรมมีหน้าที่ส่ง case report ที่เสร็จสมบูรณ์ให้แก่อาจารย์ผู้ดูแลโครงการ ตามกำหนดการ ดังนี้

      • Case report เรื่องที่ 1 ส่งก่อนวันนำเสนอ Grand round ครั้งที่ 2
      • Case report เรื่องที่ 2 ส่งก่อนวันนำเสนอ Grand round ครั้งที่ 4


3.3 ผู้เข้าฝึกอบรมจะต้องจัดเตรียมสื่อ ซึ่งเกี่ยวกับการดูแลรักษาสัตว์ป่วย เพื่อเผยแพร่ทาง social network ของคณะสัตวแพทย์ จำนวน 4 เรื่อง ทุก 3 เดือนนับจากวันที่เริ่มปฏิบัติงาน

ขอบข่ายการทำงานของผู้เข้ารับการฝึกอบรม

  1. การทำหัตถการครั้งแรกให้อยู่ภายใต้การควบคุมของคณาจารย์เท่านั้น ส่วนการทำหัตถการครั้งถัดไปให้อยู่ในดุลยพินิจของคณาจารย์ และสัตวแพทย์พี่เลี้ยง
  2. ระบุสัตวแพทย์พี่เลี้ยงเพื่อให้คำแนะนำปรึกษาในการทำงานอย่างชัดเจน (สัตวแพทย์
    พี่เลี้ยง 1 คนดูแลผู้เข้ารับการฝึกอบรม 1 คน)
  3. มีการเขียนเวชระเบียน / IPD / Surgical Report ตามมาตรฐาน Problem-Oriented Veterinary medical record (POVMR) ที่ครอบคลุม ครบถ้วน สมบูรณ์

  4. สัตวแพทย์ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องมีการบันทึกข้อมูลการฝึกปฏิบัติลงในสมุดบันทึก การปฏิบัติงาน ใส่แฟ้มพร้อมลายมือชื่อรับรองการฝึกปฏิบัติจากคณาจารย์ผู้สอนด้านต่าง ๆ ดังนี้

    1.   อายุรกรรมทั่วไป และคลินิกเฉพาะทาง สัตวแพทย์ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีหน้าที่ซักประวัติ ตรวจร่างกายสัตว์ป่วย วางแผนการวินิจฉัยและรักษา ติดตามอาการและให้ข้อมูลกับเจ้าของสัตว์ ในโรคที่พบได้บ่อยดังนี้

– โรคติดเชื้อในสุนัข
– โรคติดเชื้อในแมว
– โรคตา
– โรคมะเร็ง
– โรคหัวใจ
– โรคระบบทางเดินหายใจ
– โรคระบบต่อมไร้ท่อ
– โรคทางทันตกรรม
– โรคไตและระบบขับถ่ายปัสสาวะ
– โรคผิวหนัง (ปรสิตภายนอก โรคผิวหนังอักเสบจากติดเชื้อแบคทีเรีย โรคเชื้อราที่ผิวหนังและ โรคภูมิแพ้ที่ผิวหนัง)
– โรคกระดูก และข้อ
– โรคทางระบบทางเดินอาหาร
– โรคทางระบบประสาท

หรือมีจำนวนสัตว์ป่วยทางอายุรกรรมไม่น้อยกว่า 300 cases ตลอดหลักสูตร

2. แผนกสัตว์ป่วยฉุกเฉิน แผนกสัตว์ป่วยใน และสัตว์ป่วยวิกฤต นายสัตวแพทย์ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีหน้าที่ประเมินสัตว์ป่วยในภาวะฉุกเฉิน ดำเนินการควบคุมอาการป่วย ประเมินสภาวะในกรณีที่ต้องส่งต่อเข้ารับ การรักษาที่หน่วยสัตว์ป่วยวิกฤต ตลอดจนวางแผนการวินิจฉัย รักษา ติดตามอาการ และให้ข้อมูลแก่เจ้าของสัตว์ป่วยที่มาด้วยภาวะวิกฤต/ฉุกเฉิน ดังนี้

– ภาวะวิกฤตระบบเลือด และน้ำเหลือง
– ภาวะไตวายเฉียบพลัน
– ภาวะวิกฤต/เบาหวาน
– ภาวะวิกฤตของโรคระบบประสาท
– ภาวะวิกฤตของโรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
– ภาวะวิกฤตของโรคระบบทางเดินหายใจ
– ภาวะวิกฤตของโรคระบบสืบพันธุ์
– ภาวะวิกฤตของโรคกระดูก และข้อ
– ภาวะวิกฤตจากการติดเชื้อ
– ภาวะวิกฤตระบบทางเดินอาหาร

รวมสัตว์ป่วยวิกฤตฉุกเฉินไม่น้อยกว่า 60 cases ตลอดหลักสูตร

4.3 ศัลยกรรม นายสัตวแพทย์ต้องเข้ารับการฝึกอบรมด้านการทำศัลยกรรม ผู้ช่วยศัลยกรรมหรือ ฝึกปฏิบัติด้านวิสัญญีวิทยา
ทางสัตวแพทย์ ตลอดจนดูแลสัตว์ภายหลังการวางยาสลบจนฟื้นสลบโดยมีรายละเอียดดังนี้

– การวางยาสลบในสัตว์ป่วยที่มีระดับความเสี่ยง ASA 1
– การวางยาสลบในสัตว์ป่วยที่มีระดับความเสี่ยง ASA มากกว่า 1
– วางแผนการให้ยาระงับปวด ก่อน ระหว่าง และหลังการผ่าตัด
– ทำหมันสุนัขเพศเมีย
– ทำหมันสุนัขเพศผู้
– ทำหมันแมวเพศเมีย
– ทำหมันแมวเพศผู้
– ขูดหินปูนและถอนฟัน
– ศัลยกรรมตามระบบอื่น

รวมจำนวนสัตว์ป่วยด้านศัลยกรรมไม่น้อยกว่า 20 cases ตลอดหลักสูตร อย่างไรก็ตามนายสัตวแพทย์จะเริ่มปฏิบัติงานทาง
ด้านศัลยกรรมเมื่อผ่านการประเมินงานที่ 6 เดือน หรือ เสร็จสิ้น Grand round ครั้งที่ 2

การประเมินผลการปฏิบัติงาน

มีเกณฑ์การประเมินแบบ “ผ่าน” และ “ไม่ผ่าน” ดังนี้

1. เกณฑ์การประเมินด้านระยะเวลาในการปฏิบัติงาน ผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องปฏิบัติงานครบทุกหน่วยตามที่กำหนด และมีระยะเวลาการฝึกปฏิบัติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาที่กำหนด จึงถือว่า “ผ่าน” ถ้าปฏิบัติงานในหน่วยใดไม่ครบเกณฑ์ให้ถือว่า “ไม่ผ่าน” ในหน่วยนั้น ๆ โดยผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีสิทธิ์ในการลาไม่เกินกว่าขอบเขตตามประกาศโรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ มอ. 117.3/65-021 เรื่อง ระเบียบปฏิบัติงานสำหรับพิจารณาเพิ่มค่าจ้าง (ขาด-ลา-มาสาย) ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565

2. เกณฑ์ประเมินด้านทักษะและเจตคติ นายสัตวแพทย์ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะถูกประเมินผล
ทางด้านทักษะ และเจตคติในทุกหน่วยที่ฝึกปฏิบัติโดยต้องมีผลการประเมิน “ผ่าน” ในแต่ละหน่วยที่ฝึกปฏิบัติ

อนึ่งการประเมินผลทั้งด้านเวลา และทักษะ/เจตคติ จะทำการประเมินทันทีที่ผู้ปฏิบัติงานปฏิบัติครบ ในแต่ละหน่วย หากผลประเมินด้านเวลา “ไม่ผ่าน” อาจจะแก้ไขปรับปรุงโดยให้ปฏิบัติงานเพิ่มเติม ซึ่งต้องแจ้งผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนการประเมินผลด้านทักษะ และเจตคติสามารถให้โอกาสแก้ไขปรับปรุงตามขั้นตอนดังนี้

      1. ตักเตือนด้วยวาจา
      2. หากดำเนินการตามข้อ 1 แล้วยังไม่มีการปรับปรุง ให้ตักเตือนครั้งที่ 2 เป็นลายลักษณ์อักษร
      3. หากดำเนินการตามข้อ 1 และข้อ 2 แล้วยังไม่มีการปรับปรุง และประสงค์จะประเมิน “ไม่ผ่าน”
        ให้แจ้งผู้ปฏิบัติทราบเป็นลายลักษณ์อักษร

3.เกณฑ์ประเมินด้านการนำเสนอทางวิชาการ การประเมินผลทางวิชาการจะมีการประเมินผลผ่านการให้คะแนนการนำเสนอใน Grand round ทั้งหมด 4 ครั้ง โดยมีเกณฑ์ผ่านอยู่ที่ 60% หากไม่ผ่านจะประเมินผู้เข้ารับการฝึกอบรมโดยบุคลากรโรงพยาบาลสัตว์ การไม่ผ่านการประเมิน ใน Grand round เกิน 1 ครั้ง ทางผู้ดูแลโครงการจะพิจารณายุติการฝึกอบรมในลำดับถัดไป

4.เกณฑ์ประเมินด้านการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ เป็นการนำเสนอ case report ทั้งสองเรื่อง ในการนำเสนอ research proposal, final report หรือ การนำเสนออื่นใดภายใต้รายวิชาของคณะสัตวแพทยศาสตร์

ระยะเวลาดำเนินการ

ประกาศรับสมัครสัตวแพทย์เข้าร่วมโครงการ               15 มกราคม – 24 กุมภาพันธ์ 2566

ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบ                                              28 กุมภาพันธ์ 2566

สอบคัดเลือก                                                                         ระหว่างวันที่ 13-24 มีนาคม 2566

ประกาศผลการสอบคัดเลือก                                            31 มีนาคม 2566

ปฐมนิเทศ                                                                              ระหว่างวันที่ 22-26 พฤษภาคม 2566

เริ่มปฏิบัติงาน                                                                      1 มิถุนายน 2566 – 31 พฤษภาคม 2567

ลงทะเบียนและชำระค่าลงทะเบียน                                   ภายใน 30 มิถุนายน 2566

จำนวนรับสมัคร

ทั้งหมด 3 อัตรา

อัตราค่าลงทะเบียน

17,900 บาท

สิ่งที่ผู้ร่วมโครงการจะได้รับ

  1. ค่าตอบแทนสัตวแพทย์ปฏิบัติงาน
  2. การอบรมทางวิชาการระดับนานาชาติ
  3. การประกันภัยอุบัติเหตุระหว่างการทำงาน
  4. วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
  5. ได้รับหน่วยกิตสะสม CE จำนวนอย่างน้อย 15 หน่วยกิตเมื่อสิ้นสุดหลักสูตรหากประสงค์จะยื่นขอ โดยผู้ยื่นขอจะเป็นผู้รับผิด
    ชอบค่าหน่วยกิต CE
  6. ประกาศนียบัตรรับรองการสำเร็จหลักสูตร internship พร้อมแฟ้มสะสมการฝึกหัตถการระบุชั่วโมงการปฏิบัติงานจำนวนสัตว์ป่วย
    และข้อมูลกำกับสัตว์ป่วย